สรรพคุณเห็ดหลินจือ

รองศาสตราจารย์ ดร. นพมาศ สุนทรเจริญนนท์ 

ภาควิชาเภสัชวินิจฉัย คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

เห็ดหลินจือ [Ganoderma lucidum (Fr.) Karst.] หรือที่รู้จักกันดีในประเทศไทย “เห็ดหมื่นปี เห็ดจวักงู” ชื่ออังกฤษ “Lacquered mushroom” ชื่อญี่ปุ่น “Mannantake” เห็ดหลินจือ จัดเป็นราชาแห่งสมุนไพรจีน ที่มีการใช้มานานกว่า 4,000 ปี เป็นยาอายุวัฒนะและรักษาโรคต่าง ๆ ในเภสัชตำรับของสาธารณรัฐประชาชนจีน ระบุสรรพคุณเป็นยาบำรุงร่างกาย บรรเทาอาการอ่อนเพลีย แก้หลอดลมอักเสบเรื้อรัง รักษาโรคหัวใจ และช่วยให้นอนหลับ(1)  มีรายงานการศึกษาทางคลินิกพบว่า เห็ดหลินจือมีผลกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันในผู้ป่วยมะเร็งปอด(2) ผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่(3) และผู้ป่วยมะเร็งขั้นลุกลาม(4) มีฤทธิ์ต้านปวดและมีความปลอดภัยในการใช้ในผู้ป่วยโรค rheumatoid arthritis(5) รักษาโรค neurasthenia(6) โรคทางเดินปัสสาวะส่วนล่าง(7,8) อาการปวดหลังจากการติดเชื้องูสวัด(9)  นอกจากนี้ยังพบว่าเห็ดหลินจือมีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยามากมาย เช่น ฤทธิ์กระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน(10-13)  ฤทธิ์ต้านเนื้องอกและมะเร็ง(10,14-16)  ฤทธิ์ป้องกันเส้นประสาทเสื่อม(17-20)  ฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด(21-22) ฤทธิ์ลดไขมันในเลือด(23-24) ฤทธิ์ต้านออกซิเดชัน(25-27) ฤทธิ์ต้านการอักเสบ (anti-inflammation)(28-29) เป็นต้น ซึ่งสารสำคัญคือ สารกลุ่ม polysaccharides(10,11,13) สารกลุ่ม triterpenoids(30-33) สารกลุ่ม sterols(34-36) สารกลุ่ม fatty acids(37) สารกลุ่มโปรตีน(38-41) เป็นต้น ซึ่งสารสำคัญดังกล่าวจะพบได้ในส่วนสปอร์มากกว่าส่วนดอก(42) และสปอร์ที่กะเทาะผนังหุ้มมีฤทธิ์กระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันและต้านมะเร็งได้ดีกว่าสปอร์ที่ไม่กะเทาะผนังหุ้ม และส่วนดอก(43-45)  มีการศึกษาเกี่ยวกับพิษวิทยาของเห็ดหลินจือทั้งพิษแบบเฉียบพลันและพิษแบบเรื้อรังพบว่ามีความเป็นพิษต่ำมาก และมีความปลอดภัยสำหรับการใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน

ประเทศไทยมีการปลูกเห็ดหลินจือในเชิงพาณิชย์มาเป็นเวลานานกว่า 20 ปี โดยจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ในรูปดอกเห็ดหั่นเป็นแผ่น น้ำเห็ดหลินจือ เครื่องดื่มชาเห็ดหลินจือ กาแฟเห็ดหลินจือ เป็นต้น แต่ส่วนใหญ่ยังไม่มีการศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ทั้งสรรพคุณในการรักษาโรคภัยต่าง ๆ หรือการศึกษาการเพาะปลูกตามหลักเกณฑ์ที่ดีในการเพาะปลูก (Good agricultural Practice; GAP) หรือการเก็บสปอร์เห็ดหลินจือมาใช้ประโยชน์ เพื่อการสร้างมูลค่าเพิ่ม ทั้งนี้เนื่องจากขาดการประสานงานของหน่วยงานต่าง ๆ ที่มีองค์ความรู้แต่ไม่มีการบูรณาการในการศึกษาวิจัยและพัฒนาอย่างจริงจัง

ปี 2551-2554 สถาบันการแพทย์แผนไทย-จีน เอเซียตะวันออกเฉียงใต้ กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข ได้เป็นองค์หลักในการประสานงานกับหน่วยงานต่าง ๆ ได้แก่ โครงการพิเศษสวนเกษตรเมืองงาย ในพระองค์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิต์ พระบรมราชินีนาถ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ สถาบันบริการตรวจสอบคุณภาพมาตรฐานผลิตภัณฑ์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ คณะแพทยศาสตร์ และ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล และ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในการวิจัยและพัฒนาเห็ดหลินจือตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงการใช้ประโยชน์  คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เข้าร่วมโครงการฯ เป็นคณะทำงานการวิจัยเห็ดหลินจือและสปอร์เห็ดหลินจือในระดับพรีคลินิก และคณะทำงานการพัฒนาผลงานการวิจัยเห็ดหลินจือและสปอร์เห็ดหลินจือสู่การใช้ประโยชน์

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ศึกษา “คุณภาพและปริมาณสารสำคัญของดอกเห็ดและสปอร์เห็ดหลินจือที่ปลูกในประเทศไทย”(46)  โดยตรวจวิเคราะห์ปริมาณสารสำคัญกลุ่ม terpenoids(47) และสารกลุ่ม polysaccharides(48,49)   การศึกษานี้จะเป็นข้อมูลบ่งชี้พันธุ์เห็ดหลินจือที่เหมาะสมในการปลูกในประเทศไทย อายุในการเก็บเกี่ยวสปอร์และดอกเห็ด ชนิดของท่อนไม้ที่เหมาะสมในการเพาะเลี้ยงเห็ด และและได้พิสูจน์ให้เห็นว่าสปอร์เห็ดหลินจือ ก่อนนำไปใช้ทางยาจะต้องกะเทาะผนังหุ้ม(50)  ผลการศึกษาคุณภาพและปริมาณสารสำคัญของดอกเห็ดและสปอร์เห็ดหลินจือพันธุ์ MG1, MG2, MG5 พบว่า ระยะเวลาเก็บเกี่ยวที่เหมาะสมคือ 110 วัน และพันธุ์เห็ดที่มีปริมาณสารกลุ่ม polysaccharides สูงคือ พันธุ์ MG2 โดยพบในสปอร์ที่กระเทาะผนังหุ้ม (4.77%) มากกว่าดอกเห็ด (3.06%) ส่วนพันธุ์ที่มีปริมาณสารกลุ่ม triterpenoids สูง คือ พันธุ์ MG5 โดยพบในก้านดอก (0.55%) มากที่สุด รองลงมาคือดอกเห็ด (0.40%) และสปอร์ (0.27%) ตามลำดับ และพันธุ์ไม้ที่เหมาะสมในการเพาะเลี้ยงเห็ด คือ ไม้ลำไย และไม้สะเดา และงานวิจัยนี้ได้พิสูจน์ว่าสปอร์ที่กะเทาะผนังหุ้มมีสารสำคัญและฤทธิ์ทางยาดีกว่าสปอร์ที่ไม่กะเทาะผนังหุ้ม ทั้งนี้เพราะว่าผนังหุ้มสปอร์มีผนังหนา 2 ชั้น ผนังชั้นนอกเรียบ ผนังชั้นในยื่นคล้ายหนามไปชนผนังชั้นนอก ซึ่งผลการศึกษานี้แสดงให้เห็นว่าตัวทำละลายแอลกอฮอล์ หรือ dichloromethane ไม่สามารถสกัดสารสำคัญกลุ่ม triterpenoids ออกจากสปอร์เห็ดหลินจือที่ไม่กะเทาะผนังหุ้ม แต่การต้มสปอร์ที่ไม่กะเทาะผนังหุ้มด้วยน้ำจะสกัดสารกลุ่ม polysaccharides ได้บ้าง แต่ปริมาณน้อยกว่าสปอร์ที่กะเทาะผนังหุ้ม นอกจากนี้ในสภาวะที่เป็นกรด หรือเป็นด่าง เลียนแบบสภาวะของกระเพาะและลำไส้ ตามลำดับ ก็ไม่สามารถทำลายผนังหุ้มของสปอร์ได้ ซึ่งพิสูจน์ได้จากการศึกษาภายใต้กล้องจุลทรรศน์อิเลกตรอน และ TLC chromatogram ซึ่งจะสอดคล้องกับกรณีศึกษาที่เกิดขึ้นที่โรงพยาบาลศิริราชพยาบาล เมื่อผู้ป่วยคนหนึ่งที่รับประทานผงเห็ดหลินจือแล้วมีอาการท้องเสีย เมื่อตรวจอุจจาระพบว่ามีสปอร์เห็ดหลินจือที่มีขนาดและรูปร่างคล้ายกับไข่พยาธิ ซึ่งอาจจะทำให้เข้าใจผิดได้ว่าอาการท้องเสียเกิดจากพยาธิ หลังจากหยุดการรับประทานผงเห็ดหลินจือ อาการต่าง ๆ ก็ดีขึ้น(51) กรณีศึกษานี้แสดงให้เห็นว่าการรับประทานสปอร์เห็ดหลินจือที่ไม่กะเทาะผนังหุ้ม ร่างกายคนไม่สามารถย่อยผนังหุ้มได้ ทำให้จึงยังคงพบสปอร์ในอุจจาระ ฉะนั้นการรับประทานสปอร์เห็ดหลินจือจึงต้องทำการกะเทาะผนังหุ้มก่อน เพื่อให้สารสำคัญถูกสกัดออกจากสปอร์และดูดซึมเข้าร่างกายได้ ซึ่งจะมีคุณค่าทางยาตามรายงานการวิจัยทางคลินิกหรือพรีคลินิก

เห็ดหลินจือ (อังกฤษ: Lingzhi) เป็นยาจีน (Chinese traditional medicine) ที่ใช้กันมานานกว่า 2,000 ปี นับตั้งแต่สมัยจักรพรรดิฉินซีฮ่องเต้เป็นต้นมา เห็ดหลินจือเป็นของหายากมีคุณค่าสูงในทางสมุนไพรจีน และได้ถูกบันทึกไว้ในคัมภีร์โบราณ “เสินหนงเปินเฉ่า” ซึ่งเป็นตำราเก่าแก่ที่สุดของจีนมีคนนับถือมากที่สุด ได้กล่าวไว้ว่า เห็ดหลินจือเป็น “เทพเจ้าแห่งชีวิต” (Spiritual essence) มีพลังมหัศจรรย์ บำรุงร่างกายใช้เป็นยาอายุวัฒนะในการยืดอายุออกไปให้ยืนยาว ทำให้ผิวพรรณเปล่งปลั่ง และยังสามารถรักษาโรคต่าง ๆ ได้อย่างกว้างขวาง ชาวจีนโบราณต่างยกย่องเห็ดหลินจืออย่างเหนือชั้น ว่าดีที่สุดในหมู่สมุนไพรจีน นอกจากจะมีสรรพคุณเหนือชั้นกว่าแล้วยังปลอดภัยไม่มีพิษใด ๆ ต่อร่างกาย


เห็ดหลินจือ

ในสมัยโบราณ กล่าวกันว่า เห็ดหลินจือทำให้กล้ามเนื้อหัวใจแข็งแรงขึ้น ให้พลังชีวิตมากขึ้น ใช้บำรุงร่างกาย เป็นยาอายุวัฒนะ ทำให้มีกำลัง ทำให้ความจำดีขึ้น ทำให้ประสาทสัมผัสต่าง ๆ ชัดเจนดีขึ้น ส่งเสริมการไหลเวียนของเลือดดีขึ้น ทำให้ผิวพรรณเปล่งปลั่งสีหน้าแจ่มใส ชะลอความแก่ ส่วนสรรพคุณอื่นๆที่ได้รวบรวมไว้ได้แก่ รักษาและต้านมะเร็ง รักษาโรคตับ ความดันโลหิตสูง ขับปัสสาวะ ปรับความดันโลหิตทั้งสูงและต่ำ ภาวะมีบุตรยาก การเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ โรคภูมิแพ้ โรคประสาท ลมบ้าหมู เส้นเลือดอุดตันในสมอง อัมพาต อัมพฤกษ์ ปวดเมื่อย ปวดข้อ โรคเกาต์ โรคเอสแอลอี เส้นเลือดหัวใจตีบ ตับแข็ง ตับอักเสบ ปวดประจำเดือน ริดสีดวงทวาร อาหารเป็นพิษ แผลในกระเพาะอาหารและลำไส้ บำรุงสายตา และความเชื่อดังกล่าว ยังคงสืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบัน


เห็ดหลินจือได้ถูกบันทึกไว้ว่า มีขึ้นอยู่ตามธรรมชาติมาก กว่า 100 สายพันธุ์ และสำหรับสายพันธุ์ที่นิยมมีสรรพคุณทางยาดีที่สุดคือ กาโนเดอร์ม่า ลูซิดั่ม (Ganoderma lucidum) หรือสายพันธุ์สีแดง

เห็ดหลินจือมีสารโพลีแซคคาไรด์ ซึ่งเป็นสารยับยั้งอาการต่างๆ ข้างต้น เห็ดหลินจือในแต่ละชนิดจะมีปริมาณสารโพลีแซคคาไรด์ในปริมาณที่แตกต่างกัน แต่สายพันธุ์ที่มีสารโพลีแซคคาไรด์มากที่สุด คือ เห็ดหลินจือสีแดง ซึ่งมีงานวิจัยต่างๆ พบว่ามีสารโพลีแซคคาไรด์มากที่สุดในบรรดาเห็ดหลินจือทั้งหมด


ปัจจุบัน มีผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับ เห็ดหลินจือออกมาจำหน่ายกันเป็นจำนวนมาก การเลือกผลิตภัณฑ์ เห็ดหลินจือแดงควรศึกษาตั้งแต่วิธีการเพาะปลูก ซึ่งเป็นกระบวนการที่สำคัญ เพราะการจะได้เห็ดหลินจือที่มีคุณภาพที่ดีนั้น ตัวเห็ดหลินจือเอง จะต้องได้รับการเพาะเลี้ยงในสภาวะที่เหมาะสม ทั้งในเรื่องความชื้น แสงสว่าง และสารอาหารที่ได้รับ ส่วนขั้นตอนการแปรรูป ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่สำคัญ เพราะถือเป็นกระบวนการที่จะสกัดสารโพลีแซคคาไรด์จากตัวเห็ดเองออกมาให้ได้มากที่สุด นอกจากนี้การบรรจุภัณฑ์ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ต้องให้ความสนใจไม่แพ้กัน ควรเป็นบรรจุภัณฑ์ที่สามารถกันความชื้นได้ดี เพราะว่าความชื้นจะทำให้เห็ดหลินจือขึ้นราได้ เนื่องจากเห็ดหลินจือค่อนข้างไวต่อความชื้น


การรับประทานหลินจือ[แก้]

สำหรับผู้ที่รับประทานหลินจือใหม่ ๆ นั้น อาจจะรู้สึกมึนศีรษะ ปวดเมื่อย ปวดตามข้อ ง่วงนอน ผิวหนังเกิดอาการคัน อาเจียน อาการคล้ายท้องเสีย ท้องผูก มีปัสสาวะบ่อย หรือจะมีผลลักษณะอาการของโรคนั้น ๆ ถือเป็นปฏิกิริยาสะท้อนกลับ อันเป็นเรื่อง ปกติของการบำบัด ด้วยยาสมุนไพรแผนโบราณ เนื่องจากเมื่อตัวยาได้เริ่มเข้าไปบำบัดนั้น จะเข้าไปชะล้างสิ่งที่เป็นพิษ ในร่างกายให้สลายหรือเคลื่อนย้ายขับสารพิษ ออกจากร่างกาย จึงทำให้ร่างกายเกิดอาการผิดปกติดังกล่าว ซึ่งเป็นสัญญาณ ว่าร่างกายกำลังฟื้นตัว ไม่ใช่ผลข้างเคียง ดังเช่น สำหรับผู้ที่ป่วยเป็นโรคเบาหวาน เมื่อรับประทานหลินจือแล้วอาจจะมีการ ขับถ่ายน้ำตาล ออกมามากผิดปกติ ส่วนผู้ที่เป็นโรคเก๊าท์อาจเกิดอาการเจ็บปวดมากขึ้น โรคไต หรือผู้ป่วยที่ต้อง ล้างไต จะปวดเมื่อยตามข้อ เท้าจะบวม ร่างกายอ่อนเพลีย ซึ่งอาการเช่นนี้จะเกิดขึ้นระยะเวลาสั้น ๆ เพียง 2-3 วัน หรือประมาณ 1 อาทิตย์ ก็จะกลับสู่สภาพปกติ แล้วแต่สภาพร่างกาย อันแตกต่างกัน ของแต่ละคน ไม่ต้องตกใจ ให้รับประทานหลินจือต่อไป อย่าหยุด หากมีผลทางอาการมาก ให้ลด จำนวนแคปซูลลง เมื่อมีอาการปกติ ให้รับประทานตามคำแนะนำต่อไป สำหรับผู้ป่วยที่กำลัง รับประทานยารักษาที่แพทย์สั่ง ก็สามารถรับประทานหลินจือควบคู่ไปได้



ขอขอบคุณ

คณะเภสัขศาตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล